HIGHLIGHTS :
- แนวโน้มการสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพไทยที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 โดยภาครัฐจะเน้นการสร้างผู้เล่นรายใหม่เติมเข้ามาในระบบและกระจายไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น ภาคเอกชนจะเน้นการสร้างสตาร์ทอัพในรูปแบบทำงานร่วมกันมากกว่าแค่การลงทุนเพื่อผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ด้านผู้ประกอบการสตาร์ทอัพต้องมีการปรับตัว เนื่องจากการหาเงินทุนจะยากลำบากมากขึ้น ผู้ลงทุนจะเน้นตัวเลขกำไรมากกว่ายอดผู้ใช้งาน ดังนั้นจึงต้องทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีและปรับระบบบัญชีให้มีความน่าเชื่อถือ
เวลาในการอ่าน 3.5 นาที
ในบทความตอนที่แล้ว* ได้สรุปความเคลื่อนไหวภาครัฐและภาคเอกชนสำหรับการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในปีที่ผ่านมา ทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มในการสนับสนุนสตาร์ทอัพเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจหลักและเน้นไปที่การทำรายได้ ส่วนภาครัฐเริ่มให้ความสำคัญในการบ่มเพาะและสร้างธุรกิจนอกเหนือจากการให้เงินทุน
ในตอนนี้จะรวบรวมความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเพื่อดูแนวโน้มในปี 2563
องค์กรธุรกิจเริ่มเน้นการสร้างสตาร์ทอัพเอง
เริ่มต้นปี 2563 ด้วยความตื่นเต้นจากการเปิดตัวของ SCB10x ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ โดยตั้ง Unit ที่เรียกว่า “Venture Builder” หรือ “ลงทุนร่วมสร้าง” เป็นการผสานข้อดีของความเป็น corporate ที่มีระบบการจัดการที่ดี แต่ขาดความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่น เข้ากับข้อเสียของเหล่าสตาร์ทอัพที่มักเน้นการทำตลาดและไอเดียใหม่ให้เกิดผล โดยขาดความเข้าใจในด้านการบริการจัดการ เช่น การตั้งบริษัท การควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่าย บัญชี ภาษี ทำให้เกิดรูปแบบการร่วมลงทุนที่ไม่ได้เป็นการลงเงินเพียงอย่างเดียวแต่เป็นการลงระบบการบริหารจัดการในบริบทที่เหมาะสม
ด้าน KBTG บริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัว Kasikorn X เพื่อทำหน้าที่เป็น New S-Curve Factory โดยมีพันธกิจหลักคือการสร้าง ฟินเทค ยูนิคอร์น บริษัทแรกของประเทศไทยด้วยโมเดลธุรกิจแบบสุดโต่ง ด้วยเป้าหมายในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ตั้งโครงการ Krungsri Unicorn (www.krunsriunicorn.com) โดยเน้นการปั้นธุรกิจสู่ระดับยูนิคอร์น เริ่มจากการหาพนักงานในธนาคารที่มีไอเดียใหม่ๆ สนใจสร้างธุรกิจเข้าร่วมโครงการ มีการฝึกอบรม แข่งขันและให้เงินทุนเพื่อทำธุรกิจ
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในเฉพาะกลุ่มธนาคารเท่านั้น ในปี 2562 ทาง SCG ได้เริ่มโครงการ ZerotoOne (www.scg.com/zerotoone) เพื่อสร้าง Internal Startup ในลักษณะ Hatch-Walk-Fly ผ่านสตาร์ทอัพสตูดิโอ (Startup Studio) ที่เน้นการสร้างธุรกิจในรูปแบบสตาร์ทอัพขึ้นมาจากไอเดียใหม่ๆ ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Early stage) และแบ่งระยะของการผลักดันสตาร์ทอัพอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ระยะฟักไข่ (HATCH) ที่เน้นการเริ่มทำความเข้าใจลูกค้า ค้นหาปัญหา และทดสอบความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหานั้น ระยะเดิน (WALK) ที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ พร้อมทั้งทดสอบตลาดและโมเดลธุรกิจ และระยะบิน (FLY) ที่เน้นการขยายฐานลูกค้าเพื่อการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในแบบฉบับของธุรกิจสตาร์ทอัพ มีโครงการที่เตรียม spin-off คือ Better Box และ Acura
สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับผลสำรวจในสหรัฐอเมริกาที่พบว่าธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และความชำนาญจากบริษัทขนาดใหญ่ และมีอายุเฉลี่ย 40 ปีขึ้นไป
ผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับตัวเลขทางการเงิน
ภายหลังความล้มเหลวในการผลักดัน WeWork เข้าตลาดหลักทรัพย์ของ SoftBank และเกิดประเด็นข้อพิพาทตามมาอีกมากมาย ทำให้ Venture Capital ทั่วโลกต้องหันไปประเมินพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพใหม่ โดยเน้นไปที่การประเมินมูลค่าทางธุรกิจและตัวเลขทางการเงิน
แม้ว่าสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นหลายตัวเช่น Uber, Lyft จะสามารถ IPO ได้แต่ยังประสบปัญหาการทำกำไรอยู่ ทำให้เหล่านักลงทุนเกิดความกังวลในการลงทุนธุรกิจสตาร์ทอัพที่คาดหวังการเห็นผลกำไรแบบก้าวกระโดด
บัญชีและการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สตาร์ทอัพไม่ควรละเลย คนที่เป็น Founder ต้องทำความเข้าใจผลประกอบการของบริษัทให้ทะลุปรุโปร่ง เช่น ที่มาของรายได้ อัตราการทำกำไร ต้นทุนการทำธุรกิจ การควบคุมค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ลงทุน และอาจจำเป็นต้องหาทีมงานที่มีความรู้ ความเข้าใจ ด้านการเงินมาเสริมในตำแหน่ง CFO (Chief Financial Officer) เพื่อดูแลการเงินของบริษัท
B2B2C และการควบรวมยังเป็นรูปแบบที่สร้างการเติบโตให้สตาร์ทอัพไทย
สตาร์ทอัพระดับโลกมักใช้รูปแบบ B2C ที่เน้นสร้างฐานลูกค้าจำนวนมาก แต่เบื้องหลังการได้ฐานลูกค้าขนาดใหญ่ ต้องใช้เงินจำนวนมากในการดึงลูกค้า ซึ่งสตาร์ทอัพไทยยังไม่สามารถทำในระดับนั้นได้ต้องอาศัยการสนับสนุนจากธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อตอบสนองนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ลูกค้า
ดังนั้นรูปแบบ B2B2C จึงเหมาะกับสตาร์ทอัพไทย ในการให้บริการผ่านธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อ โดยสตาร์ทอัพไทยจะได้ประโยชน์ในการขยายกลุ่มลูกค้าและรายได้ที่มั่นคง ส่วนธุรกิจได้บริการที่ตอบสนองลูกค้าดีขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนเอง
นอกจากนี้การสร้างรายได้เพื่อการเติบโตแล้ว อุปสรรคการเติบโตอีกด้านคือ สตาร์ทอัพไทยยังมีการทำธุรกิจที่คล้ายคลึงกันหลายบริษัท ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่เล็กไม่สามารถขยายธุรกิจได้
การควบรวมธุรกิจเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความแข็งแกร่งให้สตาร์ทอัพ Founder ของสตาร์ทอัพต้องมองข้ามไปยังวิธีการสร้างธุรกิจให้เติบโตโดยอาศัยการ Synergy ในจุดที่เสริมกันกับคู่แข่ง โดยสร้างเป้าหมายร่วมกันในการเติบโตสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ภาครัฐเน้นสร้างผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ระบบนิเวศ
ปัญหาใหญ่สำหรับระบบนิเวศสตาร์ทอัพในไทยคือการขาดผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ๆ มุ่งหาดีลในต่างประเทศ
หน่วยงานภาครัฐจึงมีการปรับตัวครั้งสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ เริ่มตั้งแต่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ที่เป็นหัวแรงหลักในการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ มีการกระจายการพัฒนาและสร้างสตาร์ทอัพรายใหม่สู่ภูมิภาคอย่างจริงจังผ่านกลไกของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ทั้งมหาวิทยาลัยในเครือข่าย อุทยานวิทยาศาสตร์ และการสร้างผ่านนวัตกรรมในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งโครงการใหม่คือ กองทุนยุวสตาร์ตอัพ หรือ Youth Startup Fund ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทำงานระหว่าง NIA กับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก สามารถต่อยอดแนวคิดพัฒนาสู่การเป็นสตาร์ตอัพที่สร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศ โดยมีเงินทุนให้เปล่ารายละไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อช่วยเหลือและให้คำปรึกษาในการจัดตั้งบริษัท พัฒนาต้นแบบและดำเนินธุรกิจ
ด้านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อมุ่งสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)” มีโครงการพัฒนา Thailand Digital Valley โดยเริ่มที่ “เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand: EECd)” บนพื้นที่ 830 ไร่ และจัดตั้งสถาบัน Big Data เพื่อส่งเสริมการใช้ข้อมูลเริ่มจาก ด้านท่องเที่ยว การเกษตร และสุขภาพ
Innospace (Thailand) ที่ได้รับการผลักดันจากกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าสร้างสตาร์ทอัพในภาคการผลิต (Real Sector) และภาคบริการ (Service Sector) โดยให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยเฉพาะ DeepTech ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเน้นในการสร้างระดับ Seed Stage เพื่อส่งต่อการลงทุนและความร่วมมือไปยังพันธมิตรในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
สรุปแนวโน้มในปี 2563
ในปี 2563 จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศครั้งสำคัญของสตาร์ทอัพ โดยภาครัฐจะเน้นการสร้างผู้เล่นรายใหม่เติมเข้ามาในระบบและกระจายไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยเน้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยี
ส่วนภาคเอกชนจะเน้นการสร้างสตาร์ทอัพในรูปแบบทำงานร่วมกันมากกว่าแค่การลงทุนเพื่อผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงผลประกอบการและความสามารถในการทำกำไร จึงต้องให้ความสำคัญกับระบบบัญชีให้มากขึ้น
ด้านผู้ประกอบการสตาร์ทอัพต้องมีการปรับตัว เนื่องจากการหาเงินทุนจะยากลำบากมากขึ้น ผู้ลงทุนจะเน้นตัวเลขกำไรมากกว่ายอดผู้ใช้งานที่คาดว่าจะได้ในอนาคต ดังนั้นจึงต้องทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อสร้างผลประกอบการที่ดีและปรับระบบบัญชีให้มีความน่าเชื่อถือ รวมถึงการมองหาพันธมิตรหรือธุรกิจใน supply chain เพื่อพัฒนา complete solution ขยายตลาดไปยังต่างประเทศ
ข้อมูลอ้างอิง :
https://techsauce.co/report/thailand-tech-startup-report-2019-by-techsauce
https://businesstoday.co/startup/22/02/2020/สตาร์ทอัพไทยปี-2020-ยังโตต่/
บทความตอนที่ 1 : https://www.live-platforms.com/education/article/6678
บทความโดย : พงศ์ปิติ เอกเธียรชัย
ผู้จัดการ
บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด (LiVE)