HIGHLIGHTS :
- แนวคิดการ Pivot ของสตาร์ทอัพ สามารถนำมาใช้ได้กับธุรกิจที่มองเห็นโอกาสในช่วงวิกฤต
- ในช่วงวิกฤต ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนเพื่อให้ธุรกิจสามารถรันต่อไปได้ หรือใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สร้างให้เกิดกระแสรายได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน / สินค้า / ลูกค้า / รูปแบบธุรกิจ
- วิกฤตอาจเป็นโอกาสให้ธุรกิจได้ลองปรับปรุงและเรียนรู้ รวมถึงปรับวิธีคิดการบริหารงานใหม่ๆ บางครั้งเมื่อวิกฤตจบลงสิ่งที่ปรับมาแล้วอาจเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สามารถทำต่อไปได้ในระยะยาว
เวลาในการอ่าน 4 นาที
“Pivot” คือการหมุน หรือเปลี่ยนทิศในการทำธุรกิจ ซึ่งคำนี้ในมุมของธุรกิจสตาร์ทอัพ เป็นที่ทราบกันดีว่า จากไอเดียแรกจนถึงจุดที่บริษัทจะเติบโตได้นั้น สตาร์ทอัพจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการ เปลี่ยนปัญหา เปลี่ยนลูกค้า เปลี่ยนสินค้า เปลี่ยนเทคโนโลยี หรือปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เวลาและขึ้นกับการเรียนรู้ ทดลอง ทำซ้ำ ออกไปทดสอบกับลูกค้า จนกว่าจะเจอจุดที่ลงตัว
แต่ในมุมของธุรกิจทั่วไป ที่ปกติมักมีความชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องของสินค้าและลูกค้า จึงอาจไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอะไรเท่าไหร่นัก ซึ่งเมื่อเจอกับวิกฤต อย่างเช่นไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในวงกว้างกับระบบเศรษฐกิจ และประชาชนทั่วไปลามมายังภาคธุรกิจ ทำให้ธุรกิจในช่วงนี้จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องปรับตัวหรือปรับเปลี่ยน เพื่อให้ธุรกิจสามารถรันต่อไปได้ หรือทำอย่างไรให้ยังคงใช้ทรัพยากรที่มีอยู่สร้างให้เกิดกระแสรายได้ด้วยวิธีอื่นๆ แนวคิดการ Pivot ของสตาร์ทอัพ จึงนำมาใช้ได้ดีสำหรับธุรกิจที่มองเห็นโอกาสในช่วงวิกฤต ด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง เช่น
ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน (Process)
เป็นสิ่งแรกที่ต้องปรับ หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่สามารถทำงานที่ออฟฟิศ การ Work From Home เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ การนำเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ มาใช้ เช่น การทำงาน จัดการรับ-ส่งไฟล์ผ่าน Cloud Storage การประชุมออนไลน์ นัดเจอลูกค้าผ่านทาง Video Conference การรับ-ส่งของ ผ่านแพลตฟอร์ม Messenger
ปรับเปลี่ยนสินค้า (Product)
อาจเป็นโอกาสดีในการเพิ่มสินค้าใหม่ๆ หากสินค้าที่อยู่ในไลน์การผลิตเดิมมีความสามารถในการสร้างสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการผู้คนในช่วงวิกฤตนี้ การปรับเปลี่ยน หรือปรับปรุงไลน์การผลิตเล็กน้อยก็สามารถสร้างสินค้าใหม่ๆ ได้ เช่นบริษัทน้ำหอมหันมาผลิตเจลล้างมือ โรงงานผลิตเสื้อผ้าหันมาผลิตหน้ากากผ้าขาย หรือแม้กระทั่งบริษัทประกันออกผลิตภัณฑ์ประกันโควิดออกมาขายดีจนออกกรมธรรม์ไม่ทัน
ปรับเปลี่ยนลูกค้า (Customer)
หากลูกค้าเดิมลดลงหรือหายไปเลย มีโอกาสมั้ยที่สินค้าของเราจะสามารถปรับให้ตอบโจทย์กับลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ ตัวอย่างเช่น โรงแรมหรือที่พัก ที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก จึงปรับโรงแรมทำเป็น Package ใหม่ ให้ผู้ที่ต้องการกักกันตัวเองมาใช้บริการ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ความบันเทิง และอาหาร 3 มื้อ ด้วยภาชนะปลอดเชื้อใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ บริษัทขายอุปกรณ์ไอที ที่เปลี่ยนจากการขายสินค้าให้ลูกค้าโดยตรง มาเป็นลูกค้าองค์กรที่ต้องการเช่าเครื่องไปให้พนักงาน Work From Home หรือบริษัทที่มีพนักงานขับรถเคลมประกันจำนวนมาก (ในขณะที่จำนวนการเคลมต่ำเพราะรถวิ่งน้อยลง) ก็สามารถปรับให้พนักงานขับรถไปรับงานเดลิเวอรี่ส่งของแทนสร้างกระแสเงินสดเข้าบริษัทได้
ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ (Business)
บางครั้งสินค้าและลูกค้าของเราอาจจะยังเป็นกลุ่มเดิม เพียงแต่วิกฤตนี้ทำให้การใช้บริการลำบากมากขึ้น และไม่มั่นใจในความปลอดภัย ก็มีวิธีที่สามารถปรับรูปแบบธุรกิจให้เข้าถึงลูกได้มากขึ้น เช่น ร้านนวดที่ถูกปิดก็ปรับเป็นบริการนวดถึงบ้าน โดยมีระบบคัดกรองผู้นวดที่ดีและความสะอาดที่เป็นมาตรฐาน หรือร้านอาหารจากที่ไม่เคยมีบริการส่งอาหาร ก็ปรับมาให้บริการเดลิเวอรี่ร่วมกับ partner คนขับต่างๆ หรือ มหาวิทยาลัยและหน่วยงานจัดอบรมสัมมนาต่างๆ รวมทั้งครูสอนเต้นที่ฟิตเนส ก็มาให้บริการสอนออนไลน์แทน หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลก็ปรับรูปแบบธุรกิจมารับตรวจไวรัสโควิท ผ่านบริการ Drive Thru โดยที่ผู้ตรวจไม่ต้องลงจากรถเลย
ซึ่งแน่นอนว่าการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หลายธุรกิจก็มีความสามารถในการปรับตัว หากเรามองสิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสที่จะได้ลองปรับปรุงและเรียนรู้ รวมถึงปรับวิธีคิดการบริหารงานใหม่ๆ บางครั้งเมื่อวิกฤตจบลง สิ่งที่ปรับมาแล้วอาจเป็นประสบการณ์ที่ดีที่สามารถทำต่อไปได้และเป็นประโยชน์ในระยะยาว ไม่แน่ในอนาคตเมื่อโควิดจบลงเราอาจจะได้เห็นธุรกิจหันมาให้พนักงาน Work From Home กันมากขึ้น การประชุมกับลูกค้าผ่านออนไลน์อาจกลายเป็นเรื่องปกติ ธุรกิจอาหารที่ทุกร้านจะต้องมีบริการเดลิเวอรี่ เทรนนิ่งต่างๆ หรือการสอนผ่านออนไลน์กลายเป็นที่นิยม และบางธุรกิจอาจมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ขายดี สร้างรายได้แบบถาวรให้กับกิจการก็เป็นได้
บทความโดย : ณฤทธิ์ วรพงษ์ดี
ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย