HIGHLIGHTS :
- สรุปประเด็นสำคัญที่น่าสนใจของการทำธุรกรรม Mergers and Acquisitions (M&A) จากหลักสูตร “แนวโน้ม ทิศทางการทำ M&A ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาและกลยุทธ์การทำ M&Aให้ประสบความสำเร็จ” โดยตอนที่ 1 จะพูดถึง 3 Trends ได้แก่ 1.Collaboration / Strategic partnership 2.Portfolio Diversification และ 3.Non-core Assets Disposal
เวลาในการอ่าน 3 นาที
บทความชุด 7 Trends ใหม่ที่ทำให้เกิดการทำ M&A มากขึ้นในปัจจุบัน
ตอนที่ 2: Trends ที่ 4-5 ได้แก่ 4.M&A as Interim step for bigger plan และ 5.Investment Strategy
ตอนที่ 3 จะพูดถึง Trends ที่ 6-7 ได้แก่ 6.Internal Restructuring / Synergy และ 7.Distressed M&A
ปัจจุบันนอกจากการทำ Mergers and Acquisitions (M&A) เพื่อเป้าหมายสร้างการเติบโตให้บริษ้ทในรูป แบบ Inorganic growth แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์หรือเทรนด์ใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการทำ M&A มากยิ่งขึ้นอีกด้วย บทความนี้จะยกตัวอย่าง 7 เทรนด์ใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในการทำ M&A ของบริษัทต่างๆ ในปัจจุบัน ดังนี้
1. Collaboration / Strategic partnership เป็นการใช้จุดแข็งของผู้ร่วมธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโต เช่น การใช้ฐานลูกค้า การใช้ฐานการผลิตร่วมกัน ซึ่งสามารถเป็นการทำร่วมกันในรูปแบบ Mergers and Acquisitions (M&A) Joint Venture (JV) หรือการเข้าถือหุ้นบริษัทก็ได้ เช่นกรณี Lineman x Wongnai ที่เป็นการร่วมมือด้าน Know-how ในการทำ Delivery App Platform หรือกรณี Central ลงทุนใน Grab โดย Central ให้ Know-how การทำธุรกิจค้าปลีก ส่วน Grab ให้ Distribution Channel หรือกรณี AIS x SCB เป็น AISCB ที่เป็น Digital Lending Business ซึ่งการทำ M&A ในลักษณะนี้จะเป็นเทรนด์ที่จะพบได้มากขึ้นในอนาคต
2. Portfolio Diversification เป็นการทำ M&A เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยที่ Core Business หรือธุรกิจเดิมเริ่มอิ่มตัว จึงต้องการกระจายการลงทุนไปในธุรกิจใหม่หรือการเข้าไปลงทุนในประเทศ ภูมิภาคอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ทำให้ได้ Know-how และฐานลูกค้าใหม่ๆ เช่นกรณี Gulf x Intouch x AIS ทั้งนี้จากผลสำรวจจาก EY ที่ได้สอบถามความเห็นของผู้บริหารในเอเชียแปซิฟิก อินเดีย จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และไทย มองว่ารูปแบบการทำ M&A เพื่อกระจายความเสี่ยงในรูปแบบนี้มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้มาก ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจเข้าไปลงทุนมากในขณะนี้
3. Non-core Assets Disposal เป็นการทำ M&A เพื่อให้ธุรกิจ Lean และมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยขายธุรกิจบางส่วนที่ผลประกอบการไม่ดีหรือขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งการเข้ามาของโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทใช้วิธีนี้ เช่น กรณีบริษัทการบินไทย ที่มีการขายสินทรัพย์ เครื่องบิน หุ้น รวมถึงบางธุรกิจออกไป เพื่อช่วยให้บริษัทสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หรือกรณีธุรกิจสถาบันการเงินมีการขายธุรกิจประกันภัย เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานและการดำเนินงาน เป็นเพียงผู้ขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางธนาคาร เป็นต้น
ข้อมูลอ้างอิง : https://www.set.or.th/set/enterprise/knowledgedetail.do?contentId=7960
สรุปและเรียบเรียงโดย : พิมพ์ลดา ศิวศักดิ์ศรัณ
ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย