HIGHLIGHTS:
- แผนภูมิแท่งมีการใช้อย่างแพร่หลายในการเปรียบเทียบข้อมูลในเชิงปริมาณ การสร้างความประทับใจ (Impression Management) จึงมักมีการใช้แผนภูมิแท่ง เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจข้อมูลที่แปลงจากตัวเลขเป็นแผนภูมิแท่ง
- ดัชนีการสร้างความประทับใจโดยใช้แผนภูมิแท่ง (GDI) ใช้ในการวัดการแสดงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในความสูงของแผนภูมิแท่งว่ามีความสอดคล้องกับแนวโน้มของข้อมูลเชิงปริมาณ (ที่นำเสนอ) ที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
เวลาในการอ่าน 7 นาที
การสร้างความประทับใจ (Impression Management) ในหลายกิจการหรือหลายองค์กร มักมีการใช้แผนภูมิต่างๆ เพื่อดึงดูดความน่าสนใจแก่ผู้อ่านให้เข้าใจตัวเลขทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว เราจะเห็นว่ามักมีการใช้แผนภูมิแท่งมากกว่าแผนภูมิอื่นๆ เพราะแผนภูมิแท่งสามารถแสดงข้อมูลในเชิงเปรียบเทียบของผลการดำเนินงานของกิจการได้อย่างชัดเจน ข้อมูลทางการเงินและบัญชีที่ถูกแปลงจากจำนวนเงินที่เป็นตัวเลขเป็นแผนภูมิแท่ง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจผลการดำเนินงานของกิจการเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี แผนภูมิแท่งจึงถูกใช้อย่างแพร่หลายไปทั่วโลก เช่น แผนภูมิแท่งแสดงรายได้ แผนภูมิแท่งแสดงค่าใช้จ่าย และแผนภูมิแท่งแสดงกำไรสุทธิ เป็นต้น
ในการพิจารณาว่าการใช้แผนภูมิแท่งนำเสนอข้อมูลในด้านต่างๆ มีการสร้างความประทับใจแก่ผู้อ่านหรือไม่นั้น สามารถชี้วัดได้จาก “ดัชนีการสร้างความประทับใจโดยใช้แผนภูมิแท่ง” หรือ Graph Discrepancy Index (GDI) ซึ่งใช้ในการวัดการแสดงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในความสูงของแผนภูมิแท่งว่า มีความสอดคล้องกับแนวโน้มของข้อมูลนำเสนอที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
ดัชนี GDI ถูกใช้เป็นครั้งแรกในการศึกษาของ Tufte ในปี ค.ศ. 1983 ซึ่งเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับการศึกษาการใช้แผนภูมิแท่งในรายงานประจำปี และเป็นผู้คิดค้นสูตรการคำนวณดัชนี GDI
ทั้งนี้ GDI ของ Tufte (1983) สามารถคำนวณได้ ดังนี้
ดัชนีการสร้างความประทับใจโดยใช้แผนภูมิแท่ง (GDI) ใช้ในการวัดการแสดงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในความสูงของแผนภูมิแท่งว่ามีความสอดคล้องกับแนวโน้มของข้อมูลนำเสนอที่เปลี่ยนแปลงไปจริงหรือไม่
หากดัชนี GDI มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 5 ขึ้นไป (GDI ≥ 5) ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่มีการแสดงแนวโน้มของข้อมูลที่นำเสนอในแผนภูมิแท่งที่เพิ่มขึ้น หรือ ดัชนี GDI มีค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับลบร้อยละ 5 (GDI ≤ -5) ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่มีการแสดงแนวโน้มของข้อมูลที่นำเสนอในแผนภูมิแท่งที่ลดลง แสดงว่า มีการสร้างความประทับใจโดยใช้แผนภูมิแท่งเพื่อแสดงแนวโน้มของแผนภูมิให้ดูดีกว่าแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในข้อมูลนำเสนอที่เกิดขึ้นจริง
ตารางแสดงการแบ่งกลุ่มที่มีการสร้างความประทับใจ และกลุ่มที่ไม่มีการสร้างความประทับใจในข้อมูลที่นำเสนอ
ตัวอย่าง การคำนวณดัชนี GDI กรณีที่กิจการมีแนวโน้มของรายได้ที่เพิ่มขึ้น
จากการสมมติตัวเลขตามตัวอย่างข้างต้น แผนภูมิแท่ง BB แสดงแนวโน้มความสูงของแผนภูมิแท่งรายได้ ไม่สอดคล้องกับแนวโน้มของข้อมูลรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป (กิจการ BB มีแนวโน้มรายได้เพิ่มขึ้น และคำนวณ GDI ได้เท่ากับ 225 หรือดัชนี GDI > 5) แสดงให้เห็นถึงมีการสร้างความประทับใจโดยใช้แผนภูมิแท่งรายได้
ดังนั้น ผู้อ่านหรือผู้ใช้ข้อมูลจากรายงานที่มีการนำเสนอโดยใช้แผนภูมิแท่ง ควรมีความตระหนักว่าการใช้แผนภูมิแท่งนั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ผ่านการสร้างความประทับใจโดยใช้แผนภูมิแท่งได้ ด้วยการกำหนดความสูงของแผนภูมิแท่งที่ไม่สอดคล้องกับตัวเลขที่ต้องการนำเสนอ ผู้อ่านรายงานต่างๆ ที่มีการใช้แผนภูมิแท่ง จึงต้องพิจารณาการนำเสนอแผนภูมิแท่ง ควบคู่ไปกับตัวเลขที่ปรากฏในรายงานนั้นๆ ด้วย มิฉะนั้นแล้ว แผนภูมิแท่งในรายงานต่างๆ อาจเป็นการสร้างความประทับใจที่ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่เป็นจริง
ที่มา : Tufte, E.R. (1983). The Visual Display of Quantitative Information, Graphic Press, Cheshire,CT.
เรียบเรียงโดย : อาจารย์ธเรศ สันตติวงศ์ไชย, CPA
ผู้ช่วยคณบดี และหัวหน้าสาขาวิชาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
อนุกรรมการกลั่นกรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชี
และเลขานุการคณะทำงานโครงการเครือข่ายหลักสูตรทางการบัญชีในประเทศไทย
สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์