การเข้าจดทะเบียนและผลิตภัณฑ์
|
|
บริษัทที่มีการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน |
mai
เป็นแหล่งระดมทุนที่เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งนี้เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยความโปร่งใส มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างเครือข่ายธุรกิจและเพิ่มความพร้อมในการแข่งขัน
ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าจดทะเบียน
- ที่ปรึกษาทางการเงิน ( Financial Advisor)
ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทที่ประกอบธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ในการยื่นคำขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการให้คำแนะนำปรึกษา เพื่อให้การยื่นคำขอฯ สามารถดำเนินไปด้วยความถูกต้อง สามารถระดมทุนและเข้าจดทะเบียนได้ตามกำหนดเวลาที่ตั้งใจไว้ โดยที่ปรึกษาทางการเงินมีหน้าที่สำคัญ ดังนี้
- ศึกษาข้อมูลของผู้ยื่นคำขอฯ โดยใช้ความรู้ ความสามารถ และความระมัดระวังอย่างเพียงพอเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ
- ทำ Due Diligence เพื่อตรวจสอบว่าผู้ยื่นคำขอฯ ไม่มีประเด็นปัญหาในเรื่องสำคัญ ได้แก่ โครงสร้างการถือหุ้น การทำรายการระหว่างกัน ระบบการควบคุมภายใน และงบการเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่พบบ่อยครั้งและต้องใช้ระยะเวลานานในการแก้ไข
- ให้คำปรึกษาและแนะนำในการเตรียมความพร้อม และร่วมแก้ไขประเด็นปัญหาของผู้ยื่นคำขอฯ
- ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ยื่นคำขอถึงหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายในการเป็นบริษัทจดทะเบียน
- จัดทำเอกสารในการยื่นคำขอฯ รับรองว่าผู้ยื่นคำขอฯ ได้เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และมีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสมที่จะเข้าจดทะเบียน
- ประสานงานและทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องอื่นเพื่อให้การเข้าจดทะเบียนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เช่น ผู้สอบบัญชี ผู้ตรวจสอบภายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นต้น
- ให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามข้อบังคับ กฎเกณฑ์ในการเป็นบริษัทจดทะเบียน และติดตามดูแลการดำเนินงานและผลประกอบการของผู้ยื่นคำขอต่อเนื่องไปอีก 1 ปีนับจากวันที่เข้าจดทะเบียน
- ผู้สอบบัญชี (Auditor)
ต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ตรวจสอบ และรับรองการรายงานข้อมูลทางการเงินของบริษัทให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี
- ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditor)
เป็นผู้ประเมินความเพียงพอและเหมาะสมของระบบการควบคุมภายในของบริษัทอย่างเป็นอิสระ ให้คำแนะนำในการปรับปรุง ติดตามผลการนำไปปฏิบัติและรายงานผลการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบควบคุมภายในอย่างต่อเนื่อง
- คณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee)
องค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการตรวจสอบ
- ประกอบด้วยคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อย 3 คน (1 คน ควรมีความรู้ด้านบัญชี / การเงิน)
- แต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้น
- เป็นกรรมการที่ไม่ใช่กรรมการบริหาร/ผู้บริหาร พนักงาน หรือที่ปรึกษาที่ได้รับเงินเดือนประจำจากบริษัท
- ไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียทั้งด้านการเงินหรือการบริหารงานกับบริษัท
- ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 1 โดยให้นับรวมหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย
หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการตรวจสอบ
- คณะกรรมการตรวจสอบมีหน้าที่รับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัทตามขอบเขตหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
- ขอบเขตการปฏิบัติงานของคณะกรรมการตรวจสอบ
- สอบทานรายงานทางการเงิน
- สอบทานระบบควบคุมภายในและระบบตรวจสอบภายใน
- พิจารณาคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชี
- สอบทานการปฏิบัติงานตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- พิจารณาการเปิดเผยข้อมูลในรายการเกี่ยวโยงให้ถูกต้องครบถ้วน
- หน้าที่อื่นใดที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมายและคณะกรรมการตรวจสอบเห็นชอบ
- จัดทำรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบไว้ในรายงานประจำปี
- หากมีการเปลี่ยนแปลงในหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบจะต้องรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ ฯ
ผู้ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าจดทะเบียน
- ที่ปรึกษากฎหมาย (Legal Advisor)
เป็นผู้ที่ให้ความเห็นและคำแนะนำในการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดในการทำธุรกรรมที่สำคัญของบริษัท เช่น การเข้าซื้อกิจการ สินทรัพย์ การทำสัญญาทางธุรกิจที่สำคัญ เป็นต้น
- นายทะเบียนหลักทรัพย์ (Registrar)
บริษัทต้องมอบหมายให้บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือบุคคลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความเห็นชอบทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์